ศาสตราจารย์ พูน เกษจำรัส (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2540) เป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่ายศิลปะ) เมื่อ ปี พ.ศ. 2531
ศาสตราจารย์พูน เกษจำรัส เกิดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2464 ณ ตำบลหนองโสน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรของนายดี และนางเนื่อง เกษจำรัส สมรสกับนางสาวสุดา วงศ์ขจรสุข ชาวกรุงเทพฯ มีบุตรชาย 2 คน บุตรสาว 4 คน
ศาสตราจารย์พูน เกษจำรัสเริ่มเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลวัดสิงห์ ตำบลหนองโสน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรี(คงคาราม)หรือ(โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี) จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีพุทธศักราช 2482 แล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เข้ารับการศึกษาต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง ได้วุฒิ ปปช. และ วท. ในปีพุทธศักราช 2485 หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาต่อใน มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นนักศึกษารุ่นแรก (นักศึกษาคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร-นักศึกษาเลขประจำหมายเลข ๑) สำเร็จการศึกษาวุฒิอนุปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาจิตรกรรมและประติมากรรม (การศึกษาชั้นสูงสุดในขณะนั้น)
ปีพุทธศักราช 2490 ได้เข้ารับราชการเป็นครูตรี ที่ โรงเรียนเพาะช่าง จนถึงปีพุทธศักราช 2496 ปีพทธศักราช 2496 ย้ายไปสอนที่ โรงเรียนอุเทนถวาย สอนอยู่ได้ไม่กี่เดือน ทางวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ทุ่งมหาเมฆ ได้ขอย้ายให้เข้าสอนประจำที่แผนกวิชาช่างภาพ สอนนักศึกษาช่างภาพตั้งแต่รุ่นแรก จนถึงปีพุทธศักราช 2525 (ปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี) ครบเกษียณอายุราชการ สอนในแผนกวิชาช่างภาพรวม 27 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือหัวหน้าคณะวิชาช่างพิมพ์-ช่างภาพ ปีพุทธศักราช 2530 ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา (วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ) ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
มีวาทะของศาสตราจารย์ พูน เกษจำรัส ที่ท่านเคยกล่าวไว้มีประโยคหนึ่งว่า "งานศิลปะมิใช่มีไว้เพื่อความงามแต่อย่างเดียวก็หาไม่ หากแต่มีไว้เพื่อนำไปใช้จรรโลงสังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้เป็นอย่างดีอีกด้วย"
ศิลปะภาพถ่าย (Photography) ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานวิจิตรศิลป์ (Fine Arts) สาขาหนึ่ง ด้วยความสำคัญข้อนี้ บรรดานักถ่ายภาพที่มีผลงานสร้างสรรค์ศิลปะภาพถ่าย จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินช่างภาพ (Artist Photographer) เช่นเดียวกับศิลปินในงานวิจิตรศิลป์สาขาอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น สิทธิในการจรรโลงสังคมและประเทศชาติจึงย่อมจะไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน